วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑มาตรา๕/๒

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้ว่าจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น “ผู้รับเหมาชั้นต้น” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนงานใดจนสำเร็จประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง “ผู้รับเหมาช่วง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำสัญญากับผู้รับเหมาชั้นต้นโดยรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาชั้นต้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งทำสัญญากับผู้รับเหมาช่วงเพื่อรับช่วงงานในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาช่วง ทั้งนี้ไม่ว่าจะรับเหมาช่วงกันกี่ช่วงก็ตาม “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ หลักเกณฑ์โดยย่อ สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ ( สัญญาจ้างเหมา ) นั้นมีลักษณะคล้ายกันมาก หากไม่พิเคราะห์ถึงสาระสำคัญของสัญญาแล้วอาจวินิจฉัยผิดพลาดได้ หลักเกณฑ์โดยย่อของสัญญาจ้างทำของ ๑. สัญญาที่ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างตกลงกันเป็นหนังสือด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ๒. ผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างทำงานจนสำเร็จแล้วจ่ายสินจ้าง ๓. ผู้รับจ้างตกลงทำงานให้ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ แล้วรับสินจ้าง หลักเกณฑ์โดยย่อของสัญญาจ้างแรงงาน ๑. สัญญาที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันเป็นหนังสือ ด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ๒. นายจ้างตกลงให้ลูกจ้างทำงาน และจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ ๓. ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและรับค่าจ้าง ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานและจ้างทำของ ๑. สัญญาจ้างทำของมุ่งผลสำเร็จของงาน ส่วนสัญญาจ้างแรงงานไม่มุ่งผลสำเร็จของงาน ๒. สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือผู้รับจ้าง แต่สัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ๓. สัญญาจ้างทำของนั้น ผู้รับจ้างเป็นทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ส่วนสัญญาจ้างแรงงานนั้น ลูกจ้างมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ฎีกาสำคัญ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ฎีกาที่ ๒๗๐๗ / ๒๕๓๑ โจทก์ทำงานกับจำเลยในฐานะบรรณาธิการข่าว เรียบเรียงข่าวผู้ประกาศข่าว โดยมีหน้าที่ผลิตข่าวให้มีคุณภาพ ต้องมาเรียบเรียงข่าวให้ทันกับเวลาของรายการ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงาน ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใดๆ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของโจทก์ ดังนี้ แม้โจทก์ตกลงผลิตข่าวให้แก่จำเลยโดยได้รับสินจ้างเพื่อการนั้นก็ตาม แต่โจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของอันเป็นสัญญาประเภทหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ฎีกาที่ ๖๘๔๗ / ๒๕๔๓ โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย แม้จะขาดงานบางวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิรับค่าจ้างจนถึงวันที่จำเลยบอกเลิกจ้าง จำเลยจำต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แก่โจทก์ อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

ไม่มีความคิดเห็น: