วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กฎหมายแรงงาน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๑

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ (๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ( ฉบับที่ ๑ ) พ.ศ.๒๕๓๓ บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน หลักเกณฑ์โดยย่อ  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือข้อตกลงใดขัดกับกฎหมายนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐  มาตรา ๑๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ  กฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน เช่น พระราชบัญญัตินี้นำหลักเกณฑ์การบอกเลิกสัญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ มาบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ ตามมาตรา ๑๗ แทน ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๑๓๙๔/๒๕๔๗ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงระหว่างโจทก์และ ส ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่อง เอกสารหมายเลข จล.๑ หมายเลข ๖ ข้อ ๖.๑ ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา ๒ ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หาก ส ตั้งครรภ์ ให้ถือว่า ส ได้บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่า ส ตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงข้อ ๖.๑ เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะ ส มีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๔๓ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๐  มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ระบุไว้ว่า สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิก สัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือ ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึง กำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสาม เดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ด้วย การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่ จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงาน ทันทีได้ การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา ๕๘๓ แห่งประมาลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์  มาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ระบุไว้ว่าห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์  มาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ระบุไว้ว่า นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง (๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน (๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร (๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในกรณี (๖) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิด ลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุ ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้ง เหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างใน ภายหลังไม่ได้  ความผิดลหุโทษ หมายถึง ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับ ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มาตรา ๕๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุไว้ว่า ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน  มาตรา ๕๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุไว้ว่า ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ ข้อสังเกต ๑. มาตรา ๔๓ เป็นบทบัญญัติห้ามเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น ๒. นายจ้างจะเลี่ยงไปทำสัญญากับลูกจ้างหญิงว่ามีครรภ์ให้ลาออกหรือยอมให้เลิกจ้าง ไม่มีผลบังคับ ๓. แม้ลูกจ้างหญิงรับรองว่าตนไม่มีครรภ์ นายจ้างหลงเชื่อรับเข้าทำงานแล้ว ปรากฎความจริงในภายหลัง ก็เลิกจ้างไม่ได้ ๔. แม้งานบางอย่าง หญิงมีครรภ์ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะที่จะทำ นายจ้างก็เลิกจ้างไม่ได้ นายจ้างชอบที่จะเปลี่ยนงานหรือถ้าไม่มีงานจะเปลี่ยนให้ทำก็ต้องรอให้ลูกจ้างหญิงคลอดบุตรก่อนจึงให้มาทำงาน ๕. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ ( พ.ศ.๒๕๔๑ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ข้อ ๕ ระบุไว้ว่า นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ที่ทำงานในตำแหน่งในตำแหน่งผู้บริหารงานวิชาการ งานธุรการ รวมทั้งงานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างนั้น อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

ไม่มีความคิดเห็น: