วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หมาขี้เรื้อน ... เปลี่ยนหัวใจคนใจดำ

อ่านจบแล้วน้ำตาคุณจะไหล "หมาขี้เรื้อน ... เปลี่ยนหัวใจคนใจดำ" เรื่องเล่า… มีอยู่ว่า พี่ชิต แกเป็นคำใจดำครับ ชอบยิงนกตกปลาไปเรื่อย แต่ที่หนัก ก็คงเป็นเนื้อหมา แกกินแหลกครับ แม่แกบอก มันบาปนะลูก พี่แก ก็ไม่เคยสนใจ คำเตือนของแม่เลย เมื่อราว 15 ปีก่อน มีเหตุการณ์ ที่ทำให้แกเปลี่ยนไป… ครั้งนั้น มีแม่หมาขี้เรื้อน ตัวหนึ่งครับ มันมักวิ่งไปหาของกิน แถวๆ บ้านแกบ่อย เพราะบ้านแกติดตลาด ผมเคยถามพี่ชิต ที่กินหมา อยู่บ่อยๆ ว่า ทำไมไม่กินหมาขี้เรื้อน แกบอก “กินไม่ลงว่ะ"มีอยู่วันหนึ่ง เนื้อแห้งที่แกตากไว้ หายไป พอมองไป ก็เห็นแม่หมาขี้เรื้อนนั้น วิ่งคาบเนื้อตากแห้ง ของแกอยู่ ความแค้นใจ และการฆ่า ที่อยู่ในสันดาน พี่ชิตคว้าไม้ ที่ใช้ตีหมาได้ ก็วิ่งตามไป อย่างรวดเร็ว พอตามทัน แกก็ทุบไปทีเดียว หมาขี้เรื้อนนั่น ล้มลงชักทันที (แกบอกว่า หากตีตรงจุด แค่ไม้เล็กๆ ธรรมดา ก็ตายได้ นี่คือคน ตีหมาจนชำนาญ) พี่ชิตทิ้งซากหมา กองไว้อยู่ตรงนั้น โดยไม่ต้องเหลียวหน้าไปดูอีก เพราะตีมาเป็นร้อย ก็ไม่มีทางฟื้น และวันนี้ ด้วยความโมโห พี่ชิตจะกินหมาขี้เรื้อนตัวนี้ ที่ดันมากินเนื้อตากแห้ง และมาหยาม ถึงถิ่นของแกพี่ชิตเดินกลับไปที่บ้าน เพื่อเตรียมอุปกรณ์ ในการแล่เนื้อ พร้อมกับสั่งให้ผม เฝ้าซากหมาขี้เรื้อนตัวนี้เอาไว้ แต่ผมก็มัวแต่เก็บตะขบ จนลืมดูพอพี่ชิตมาถึง ก็โวยวายกับผมว่า ซากหมาหายไปไหน พร้อมกับวิ่งตาม รอยเลือด หมาขี้เรื้อนตัวนี้ พร้อมกับบ่นว่า... “ทำไมมันไม่ตายวะ” สักพักหนึ่ง แกก็ได้ยินเสียงหมาเห่า แกก็ตามเสียงไปทันที พอไปถึง ภาพที่เห็นคือ หมาขี้เรื้อน กำลังจะตาย มันมีลูก ที่ต้องเลี้ยง 5 ตัวครับ วัยกำลังกินนมอยู่ บางตัวก็วิ่งไปคาบเนื้อ ที่แม่หมาขี้เรื้อน คาบไปฝาก (เห็นกับตา) แม่หมาขี้เรื้อนตัวนี้ มันตายแล้วฟื้น คงไม่ใช่ แต่ที่มัน ยังไม่ยอมตาย ก็เพราะจิตใจอันเข้มแข็ง ของมัน ที่ปลุกเร้าเยื่อใย ที่คงเหลือ อย่างเหนียวแน่นว่า… ต้องกลับไปให้ได้ เพื่อให้ลูกมันกินนมครับการตีของพี่ชิตนั้น กระทบกระเทือน ถึงหัวสมองแตก เลือดสาดเป็นลิ่มๆ แต่มันก็ยัง ลากตัวมันเอง กระเสือกกระสน ล้มลุกคลุกคลาน เพื่อกลับมาหาลูกของมันจนได้ และสิ่งที่เห็นคือ... การกระทำที่ยิ่งใหญ่ ของความเป็นแม่ ที่รักลูกมากเป็นที่สุด โดยไม่ห่วงตัวจะตาย นี่จิตใจอันยิ่งใหญ่ของแม่ ที่ไม่ว่าสัตว์ หรือคน ก็มีจิตใจเช่นนี้ แม้มันจะตาย ก็ขอให้ลูกพวกมัน ได้อิ่มซักมื้อแม่หมาพยายาม อย่างดีที่สุดแล้วครับ ผมไม่อยากจะเชื่อ... นั่นคือ น้ำตา ของแม่หมาขี้เรื้อนตัวนั้น มันมองผมกับพี่ชิต เหมือนขอร้อง เป็นครั้งสุดท้าย ที่มันต้องการให้นมลูก ก่อนตายสายตาของมันเศร้ามาก มันมองผมกับพี่ชิต อย่างวิงวอนทางสายตา ที่ขอร้องของมัน เพื่อขอให้มัน ได้ให้นมลูกของมัน เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะตาย พี่ชิต ไม้หล่นลงกับพื้น เดินเข้าไปดู แม่หมาขี้เรื้อนตัวนั้น ในยามนั้น... สิ่งที่แกเห็น ไม่ใช่หมาขี้เรื้อน แต่แกเห็นจิตใจ แห่งความเป็นแม่ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทนเจ็บปางตาย เพื่อกลับไปหาลูกให้ได้ พี่ชิตไม่พูดอะไร... ทุกอย่างจุกอยู่ที่ลำคอ... สายตาพี่ชิต ที่แข็งกร้าว กลับอ่อนโยนลง พร้อมกับมีลูกหมาตัวหนึ่ง วิ่งไปหาแก กระดิกหางให้ แกอุ้มลูกหมาขึ้น พร้อมมองไปที่ สายตา ของแม่หมาขี้เรื้อนนั้น อย่างสำนึกผิด และพูดคำว่า "ขอโทษ” พูดได้แค่นั้น แม่หมาก็สิ้นใจตาย อย่างตาหลับ ผมกับพี่ชิต ช่วยกันฝังแม่หมาตัวนี้... พร้อมๆ กับจิตสำนึก ที่เกิดใหม่ ของพี่ชิต ที่เปลี่ยนไป ราวกับคนละคน แกรับเลี้ยง ลูกหมานั้นไว้ ทั้ง 5 ตัว และตั้งแต่นั้น แกกลายเป็นคนใจดี ไม่ไล่ยิงนก ยิงหมา ยิงแมวอีก แกบอกว่า... "มันอาจจะมี ลูกรออยู่ก็ได้” วันเกิดของแม่ ปีที่แล้ว แกเอามะลิ ร้อยเป็นพวง ไปให้แม่ ทั้งๆ ที่ ไม่เคยทำมาก่อน พี่ชิตกราบแม่ พร้อมพูดกับแม่ว่า "แม่ครับ... ตอนผมอายุ 16 แม่สอนผม ยังไงนะ สอนอีกหน ได้ไหมครับ" แม่แกน้ำตาคลอ พูดไม่ออก.... _____________________ เค้ามีชีวิต เหมือนที่คุณมี เค้ามีหัวใจ เหมือนที่คุณมี เค้ามีความรัก เหมือนที่คุณมี ใครซักคนพูดไว้ว่า... หากคุณลองเลี้ยงสุนัขซักตัวด้วยรัก แล้วคุณจะรู้ว่า "รักแท้" เป็นเช่นไร
โปรดแชร์ เพื่อหวังว่า เรื่องราวนี้ จะเปลี่ยนหัวใจ ของคนได้!!

วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑มาตรา๕/๒

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้ว่าจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น “ผู้รับเหมาชั้นต้น” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนงานใดจนสำเร็จประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง “ผู้รับเหมาช่วง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำสัญญากับผู้รับเหมาชั้นต้นโดยรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาชั้นต้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งทำสัญญากับผู้รับเหมาช่วงเพื่อรับช่วงงานในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาช่วง ทั้งนี้ไม่ว่าจะรับเหมาช่วงกันกี่ช่วงก็ตาม “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ หลักเกณฑ์โดยย่อ สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ ( สัญญาจ้างเหมา ) นั้นมีลักษณะคล้ายกันมาก หากไม่พิเคราะห์ถึงสาระสำคัญของสัญญาแล้วอาจวินิจฉัยผิดพลาดได้ หลักเกณฑ์โดยย่อของสัญญาจ้างทำของ ๑. สัญญาที่ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างตกลงกันเป็นหนังสือด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ๒. ผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างทำงานจนสำเร็จแล้วจ่ายสินจ้าง ๓. ผู้รับจ้างตกลงทำงานให้ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ แล้วรับสินจ้าง หลักเกณฑ์โดยย่อของสัญญาจ้างแรงงาน ๑. สัญญาที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันเป็นหนังสือ ด้วยวาจาหรือโดยปริยาย ๒. นายจ้างตกลงให้ลูกจ้างทำงาน และจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ ๓. ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและรับค่าจ้าง ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานและจ้างทำของ ๑. สัญญาจ้างทำของมุ่งผลสำเร็จของงาน ส่วนสัญญาจ้างแรงงานไม่มุ่งผลสำเร็จของงาน ๒. สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือผู้รับจ้าง แต่สัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ๓. สัญญาจ้างทำของนั้น ผู้รับจ้างเป็นทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ส่วนสัญญาจ้างแรงงานนั้น ลูกจ้างมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ฎีกาสำคัญ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ฎีกาที่ ๒๗๐๗ / ๒๕๓๑ โจทก์ทำงานกับจำเลยในฐานะบรรณาธิการข่าว เรียบเรียงข่าวผู้ประกาศข่าว โดยมีหน้าที่ผลิตข่าวให้มีคุณภาพ ต้องมาเรียบเรียงข่าวให้ทันกับเวลาของรายการ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงาน ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใดๆ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาการทำงานของโจทก์ ดังนี้ แม้โจทก์ตกลงผลิตข่าวให้แก่จำเลยโดยได้รับสินจ้างเพื่อการนั้นก็ตาม แต่โจทก์ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของอันเป็นสัญญาประเภทหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างทำของ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ฎีกาที่ ๖๘๔๗ / ๒๕๔๓ โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย แม้จะขาดงานบางวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิรับค่าจ้างจนถึงวันที่จำเลยบอกเลิกจ้าง จำเลยจำต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แก่โจทก์ อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๕ /๑

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หลักเกณฑ์โดยย่อ ลูกจ้างนั้นมีองค์ประกอบ ๒ รายการ คือ ๑ ) ผู้ตกลงทำงานให้นายจ้าง ๒ ) การทำงานนั้นเพื่อรับค่าจ้าง หลักเกณฑ์การเป็นลูกจ้างนั้น ทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ใช้หลักเณฑ์เดียวกัน ดังนั้น คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงนำมาปรับใช้กับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.๒๕๔๑ ได้ ฎีกาสำคัญ คำพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นลูกจ้าง ฎีกาที่ ๒๙๗๐ / ๒๕๔๘ ลูกจ้าง คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างสามารถลงโทษได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่ามิใช่ลูกจ้าง ฎีกาที่ ๒๔๑๗ / ๒๕๔๔ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานในบริษัทจำเลยที่ ๑ รองจากนาย ถ. ซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ โจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ อีกทั้งไม่มีผู้ใดในบริษัทจำเลยที่ ๑ สามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้ แสดงว่า โจทก์ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๕

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง (๑) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง (๒) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทน นิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ ทำการแทนด้วย หลักเกณฑ์โดยย่อ ๑. นายจ้าง คือ ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้ การเป็นนายจ้างนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ๑.๑ ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน : การตกลงอาจทำเป็นหนังสือ พูดด้วยวาจา หรือโดยปริยายก็ได้ โดยมีการเสนอสนองถูกต้องตรงกัน ฝ่ายเสนออาจเป็นลูกจ้างยื่นใบสมัครงานแล้วนายจ้างรับเข้าทำงานหรือนายจ้างประกาศรับสมัครงานแล้วลูกจ้างมาสมัคร นายจ้างตกลงรับเป็นลูกจ้างก็ได้ นายจ้างนั้นอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ๑.๒ ผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ฎีกาสำคัญ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นนายจ้าง ฎีกาที่ ๘๕๒ / ๒๕๔๓ โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยได้โอนกิจการให้บริษัท พ เป็นผู้เช่าดำเนินการต่อ บริษัทผู้เช่าได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัทผู้เช่า โดยโจทก์ทั้งหมดหาได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัทผู้เช่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๗ ให้สิทธิไว้ไม่ อีกทั้งเมื่อบริษัทผู้เช่าค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัทผู้เช่าและยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัทผู้เช่าแล้ว บริษัทผู้เช่าจึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๒ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่ามิใช่นายจ้าง ฎีกาที่ ๓๙๙๙ / ๒๕๒๘ สัญญาตัวแทนประกันชีวิตระหว่างบริษัทกับตัวแทนมีเจตนาผูกพันต่อกันในฐานะตัวการกับตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตัวแทนมีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายประกันชีวิตเป็นรายๆ ไป ไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ เช่น โบนัส ค่าครองชีพ หรือเบี้ยเลี้ยง เช่นลูกจ้างทั่วไป แม้ตัวแทนต้องลงเวลาทำงาน เมื่อขาดงานต้องลา หรือขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก็เป็นเรื่องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้กิจการของบริษัทมีประสิทธิภาพและรัดกุม มิใช่เป็นเรื่องที่ตัวแทนต้องทำงานตามคำสั่งหรือการบังคับบัญชาของบริษัท ทั้งไม่ปรากฎว่าตัวแทนฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว บริษัทมีอำนาจลงโทษตัวแทนเป็นการอื่น นอกจากการเลิกสัญญา ถือไม่ได้ว่าตัวแทนเป็นลูกจ้างของบริษัท ๒. ผู้ที่ถือว่าเป็นนายจ้าง ๒.๑ ) ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลธรรมดา : นายจ้างผู้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอาจติดกิจธุระ ไม่อาจควบคุมดูแลการทำงานของลูกจ้างได้ จึงมอบหมายให้คนอื่นทำแทน เช่น นายโชติช่วงซึ่งเป็นนายจ้างต้องเดินทางไปติดต่องานที่ต่างประเทศ จึงมอบหมายให้นายชิดชอบดูแลกิจการ ถือว่านายชิดชอบเป็นนายจ้าง ๒.๒ ) ผู้มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคล : หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำแทนโดยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐ เช่น กรรมการ ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ผู้ว่าการ กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นต้น ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๓๑๒๙ / ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕ จำเลยที่ ๒ ย่อมจะถูกโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องให้รับผิดได้ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๘๒๐ กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ ๒ กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายและเงินต่างๆ ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น เป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ รับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๘๒๐ ซึ่งไม่ขัดแย้งกัน คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว ๒.๓ ) ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้กระทำการแทน ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล อาจติดกิจธุระจึงมอบหมายให้คนอื่นดูแลกิจการแทน เช่น นายดำ กรรมการผู้จัดการของบริษัท ก จำกัด ต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศ จึงมอบหมายให้นายแดง รองกรรมการผู้จัดการรักษาการแทน ถือว่านายแดงเป็นนายจ้าง  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐ ระบุไว้ว่า นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน ทั้งนี้ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ระบุไว้ว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ ระบุไว้ว่า นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตยก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจ ด้วย ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๐ ระบุไว้ว่า ตัวการย่อมมีความ ผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไป ภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

กฎหมายแรงงานกับการบริหารงานบุคคลและธุรการ

นับจากวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้มีการปฏิบัติมาเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี บางหมวดบางมาตราได้มีการพิจารณาและนำเสนอจากนักบริหารงานบุคคลและธุรการให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขในบางประเด็นเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการบริหารงานของนายจ้างและลูกจ้าง จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขในเนื้อหาสาระเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในยุคปัจจุบัน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 จำเป็นอย่างยิ่งที่นักบริหารงานบุคคลและธุรการ จะต้องทำความเข้าใจและปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2551

วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
เพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เพื่อให้นายจ้างบริหารจัดการองค์กรได้ถูกต้องตามสิทธิ หน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายฯ
เพื่อสร้างเสริมแรงงานสัมพันธ์อันดีในสถานประกอบการระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
เพื่อป้องกันการเกิดคดีความต่างๆ สู่ศาลแรงงาน หรือ สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

หัวข้อการฝึกอบรม
Ø ประเด็นข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิมและฉบับใหม่
Ø การปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
Ø ปัญหาในทางปฏิบัติของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่
Ø คำแนะนำในการ ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่


คุณสมบัติของผู้เข้าฝึกอบรม
ผู้บริหาร, ผู้อำนวยการ, ผู้จัดการ, หัวหน้าแผนก, หัวหน้างานและผู้สนใจทั่วไป

รูปแบบการฝึกอบรม
บรรยายและถาม-ตอบ

ระยะเวลาการฝึกอบรม
1 วัน

วิทยากร
อ.สมชาย หลักคงคา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
E-mail : somchailak@hotmail.com
Mobile : 081-6529843

เสริมเขี้ยวเล็บนักขายมีอใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ตอน หลักการของปรึซึม(PRISM)

บทความที่แล้วได้กล่าวถึงการปิดการขาย เมื่อนักขายปิดการขาย และส่งมอบสินค้าไปถึงลูกค้าตรงตามกำหนดแล้ว ต่อไปนักขายจะทำอย่างไรที่จะรักษาลูกค้าเก่า และ เพิ่มลูกค้าใหม่ กิจกรรม การขาย ของนักขายต้อง ตอบสนองกิจกรรมการซื้อของลูกค้า ลูกค้าต้องการอะไร ก่อนซื้อ ขณะซื้อ และหลังการซื้อ ส่วนนักขายต้องตอบสนองด้วยการปรับกระบวนการธุรกิจ และนำเสนอ สินค้าหลายๆรูปแบบให้กับลูกค้า ทั้งก่อนขาย ขณะขาย และ หลังการขาย โดยจับคู่กันให้ได้ นักขายก็จะสามารถสร้างคุณค่าใหม่โดย การสร้างมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างจากเดิม และแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาดนี่คือพื้นฐานของการพัฒนาลูกค้า เมื่อลูกค้าตัดสินใจ ซื้อสินค้าจากนักขาย หัวใจสำคัญ นั้นอยู่ที่สัมพันธภาพไม่ใช่เพียงแค่ตัวสินค้าแต่ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพ และการพัฒนาจิตสำนึกจาก การขาย ไปสู่ การให้บริการ นั้นจะช่วยผลักดันโอกาสให้กับนักขายเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าจะสร้างความแตกต่างให้กับนักขาย ได้โดยวิธีง่ายๆ ด้วยหลักการของปริซึม ( PRISM )
PRISM คือ แสงที่มองผ่านเลนรูปพีระมิด ซึ่งมาจากคำว่า
P : Product คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์
R : Relationship คือ การสร้างความประทับใจ และ ความสัมพันธ์กับลูกค้า
I : Image คือ การสร้างภาพลักษณ์ หรือ ภาพพจน์ที่ดี และ สร้างตรายี่ห้อ
S : Service คือ การพ่วงบริการไปกับ ผลิตภัณฑ์
M : Management คือ การบริหารกระบวนการภายในเพื่อสร้างความสบายใจและให้ประสบการณ์กับลูกค้า
1. การพัฒนาสินค้า (Product) บรรจุภัณฑ์ ขนาดของสินค้า และรูปแบบ ส่วนผสม รส กลิ่น สี ตามความต้องการของตลาดนั้นๆ เช่น การพัฒนาของอาหาร เมื่อก่อนไอศกรีม มีแค่ ช็อกโกเเล็ต กาแฟ สตอเบอรี่ แต่ปัจจุบัน มีรส สมุนไพร หรือ รสผลไม้ตามฤดูกาล และน้ำปลาพริก พริกน้ำส้ม น้ำตาล พริกป่น ได้นำมาบรรจุเป็นซองก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคสะดวกในการใช้ สะอาดในการจัดเก็บ และเป็นอีกรูปแบบใหม่ สังเกตได้จากร้านอาหาร ร้านขายก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งหนังสือของ อาจารย์ ณรงค์วิทย์ กล้าเปลี่ยนแปลง พิมพ์กี่ครั้งก็ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าด้วยเนื้อหาและสาระที่มีคุณภาพจึงทำให้ติดชาร์ด Best seller ก็ยังเปลี่ยนแปลงรูปเล่ม แต่เนื้อหาก็คงเดิม ก็เพราะต้องการให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าไม่จำเจ หรือพูดง่ายๆก็คือไม่ตกรุ่นนั่นเอง
2. การสร้างภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และสร้างตรายี่ห้อ (Image) ก่อนอื่นเราต้องหาจุดเด่นของสินค้าและดูว่าเราสามารถแปลงจุดเด่นนี้ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ลองนึกดูว่าถ้าเราจะบอกลูกค้าว่าสินค้าเราดี เราจะบอกลูกค้า ว่าอย่างไร พูดสั้นๆง่ายๆและเข้าใจ เช่น สะดวกในการใช้ บำรุงรักษาง่าย ปลอดภัย และทันสมัย ราคาไม่แพง คุณภาพสูง มีการรับประกันคุณภาพสินค้า อื่นๆอีกมากมายที่นักขายสามารถนำมาพูดกับลูกค้า อยู่ที่ทักษะของนักขายที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
3. การพ่วงการให้บริการ (Service) การเพิ่มยอดขายด้วยการให้บริการจะทำให้นักขายมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการพ่วงบริการเสริมหรือบริการพิเศษที่นักขายนำเสนอไปพร้อมกับการขายสินค้า เช่น รับประกันซ่อมฟรีภายใน 1ปี หรือบริการติดตั้งฟรี หรือในกรณีที่นักขาย ขายสินค้าให้กับร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่าย นักขายก็สามารถนำเสนอ บริการพิเศษ คือ สอนเทคนิคการขายและให้รายละเอียดของสินค้าให้กับพนักงานขายหน้าร้าน หรือส่งพนักงานแนะนำสินค้าของบริษัทฯ ( PC) มาประจำ ณ จุดขาย ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ นโยบายของบริษัทฯนั้นๆเป็นผู้กำหนด
4. การสร้างความประทับใจและความสัมพันธ์กับลูกค้า ( Relationship) ในหัวข้อนี้ผู้เขียนเคยได้เขียนไว้ในบทความของ การตลาดกับงานบริหารบุคคล ตอนที่ 2 ลองไปค้นอ่านดู ได้กล่าวถึง CRM และ PRM หรือถ้าหาไม่เจอก็รออ่านในบทความต่อไปซึ่งผู้เขียนกำลังเขียนอยู่และจะกล่าวถึง IRM ( Integrated Relationship Management ) โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบองค์รวม 360 องศา ก็จะรวบรวมกลยุทธ์ตั้งแต่ ลูกค้า CRM (CustomerRelationshipManagement) พนักงาน (Internal Relationship Management) คู่ค้าพันธมิตร PRM (Partner Relationship Management) คู่แข่ง ทางการค้า (Competitor Relationship Management ) ในยุคไอทีแบบนี้ การตลาดยุคน้องโบ(ราณ) ที่ใช้เพียงแค่ ลด แลก แจก แถม โฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพียงแค่นี้คงไม่ได้ผลแล้ว การตลาดยุคนี้เน้นต่อยอด การ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความสัมพันธ์ กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า และสร้างความภักดี กับลูกค้าทำอย่างไร ให้ลูกค้ายึดติดกับนักขายไม่จากไปไหน ใช้สินค้าที่ นักขายนำเสนอขายอย่างต่อเนื่อง และยี่ห้อเดียว ลูกค้าจะมีการซื้อซ้ำ ซื้อบ่อย ซื้ออย่างต่อเนื่อง และลูกค้ามีการบอกต่อ โดยชวนเพื่อนและญาติมาซื้อ ลูกค้าประเภทนี้จะมีมูลค่าสูง และทำให้บริษัทฯมีกำไรมากขึ้น ผลที่ตามมา ก็คือโบนัสของพนักงาน
5. การบริหารกระบวนการภายใน (Management) พัฒนาคนข้างในให้มีความรู้ มีความสามารถเต็มที่และ เต็มใจในการให้บริการกับลูกค้า และสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้ลูกค้าทุกๆการติดต่อสื่อสาร และ การพบปะระหว่างลูกค้ากับพนักงานภายใน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ การบริหารผลิตภัณฑ์ที่ดี บริหารภาพพจน์ที่ดี พร้อมกับการให้ข่าวสารข้อมูลบริษัทฯได้อย่างต่อเนื่อง ไขข้อข้องใจลูกค้าได้ โดยที่ลูกค้ามีความรู้สึกว่าสามารถพูดคุยกับพนักงานได้โดยที่ไม่จำเป็นเฉพาะพนักงานขายอย่างเดียว บริหารการบริการใหม่ๆให้กับลูกค้า บริหารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ผูกมัดใจลูกค้ากันไปตลอด เช่น การมีกิจกรรมระหว่างพนักงานกับลูกค้า การจัดงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้า หรือกิจกรรมท่องเที่ยว กิจกรรมกีฬา กระชับความสัมพันธ์ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิต นั่นคือการบริหารข้างในคือพนักงาน ให้ตอบสนองข้างนอกก็คือลูกค้า วิธีการอย่างนี้เพื่อ ตอบสนองความสบายใจและให้ประสบการณ์ กับลูกค้า ให้มีประสิทธิภาพ

“การรู้จักผู้อื่นนั้นเป็นความชาญฉลาด แต่ การรู้จักตนเองนั้นเป็นการรู้แจ้งเห็นจริง”

วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๔

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (๑) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (๒) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง จะออกกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติ นี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้ หลักเกณฑ์โดยย่อ ๑. พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และงานหรือนายจ้างที่ยกเว้นในกฎกระทรวง ๒. กฎกระทรวง ( พ.ศ.๒๕๔๑ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (๑) มิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่ง ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู หลักเกณฑ์โดยย่อ  ลูกจ้างตำแหน่งอื่นของโรงเรียนเอกชน เช่น นักการภารโรง เสมียน พนักงาน พนักงานบัญชีการเงิน พนักงานขับรถ เป็นต้น อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑  ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ว่าตำแหน่งใด อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑  สถานศึกษาของราชการ ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ ตามมาตรา ๔(๑) ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๕๓๖๔ – ๕๓๖๘ / ๒๕๔๓ กฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๔ วรรคสอง และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ บัญญัติไว้ใน (๑) ว่ามิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู เมื่อจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงเรียนบริหารธุรกิจภาคใต้ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งครูผู้สอน โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ (๒) มิให้ใช้บทบัญญัติบางมาตราในพระราชคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจอื่นรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน คือ ลูกจ้างที่ทำงานรับใช้ในบ้านเรือน เช่น ทำความสะอาด ทำอาหาร ซักรีดเสื้อผ้า เลี้ยงดูเด็ก ทำสวน ดูแลบ้าน เป็นต้น หลักเกณฑ์โดยย่อ  ลูกจ้างนั้นต้องทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอย่างเดียว ไม่มีงานอื่นรวมด้วย จึงจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง  เดิมประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่ถือว่าลูกจ้างที่ทำงานบ้านเป็นลูกจ้าง จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ถือว่าลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่มีการประกอบธุรกิจอื่นรวมอยู่ด้วยเป็นลูกจ้าง ซึ่งได้รับความคุ้มครองเพียงบางลักษณะเท่านั้น โดยไม่ใช้บังคับสำหรับ  หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๑๒, มาตรา ๑๘, มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒  หมวด ๒ การใช้แรงงานทั่วไป มาตรา ๒๓ – ๓๗ เว้นแต่ ตามมาตรา ๓๐  หมวด ๓ การใช้แรงงานหญิง มาตรา ๓๘ - มาตรา ๔๓  หมวด ๔ การใช้แรงงานเด็ก มาตรา ๔๔ – มาตรา ๕๒  หมวด ๕ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่า ล่วงเวลาในวันหยุด มาตรา ๕๓ – มาตรา ๗๗  หมวด ๖ คณะกรรมการค่าจ้าง มาตรา ๗๘ – มาตรา ๙๑  หมวด ๗ สวัสดิการ มาตรา ๙๒ – มาตรา ๙๙  หมวด ๘ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน มาตรา ๑๐๐ – มาตรา ๑๐๗  หมวด ๙ การควบคุม มาตรา ๑๐๘ – มาตรา ๑๑๕  หมวด ๑๐ การพักงาน มาตรา ๑๑๖ – มาตรา ๑๑๗  หมวด ๑๑ ค่าชดเชย มาตรา ๑๑๘ – มาตรา ๑๒๒  หมวด ๑๓ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาตรา ๑๒๖ – มาตรา ๑๓๘ (๓) มิให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึง ๑) งานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ให้ดูที่งานมิใช่ดูที่วัตถุประสงค์ของนายจ้างหรือองค์กรของนายจ้าง ๒) งานนั้นต้องทำได้โดยไม่คิดค่าตอบแทน หรือคิดเท่าทุน หรือมี กำไรบ้างก็นำมาเป็นทุนเพื่อดำเนินการต่อไป โดยมิได้นำไป แบ่งปัน หรืองานที่ทำโดยไม่เรียกร้อง แล้วแต่ผู้รับบริการจะจ่าย ให้หรือไม่ก็ได้ ๓) บทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ที่มิใช้บังคับกับงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ มีดังนี้  หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๑๒, มาตรา ๑๖, มาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๒  หมวด ๒ การใช้แรงงานทั่วไป มาตรา ๒๓ – มาตรา ๓๗  หมวด ๓ การใช้แรงงานหญิง มาตรา ๓๘ – มาตรา ๔๓  หมวด ๔ การใช้แรงงานเด็ก มาตรา ๔๔ – มาตรา ๕๒  หมวด ๕ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่า ล่วงเวลาในวันหยุด มาตรา ๕๓ – มาตรา ๗๗ เว้นแต่การจ่ายค่าจ้างตามมาตรา ๕๓, มาตรา ๕๔, มาตรา ๕๕ และมาตรา ๗๐  หมวด ๖ คณะกรรมการค่าจ้าง มาตรา ๗๘ – มาตรา ๙๑  หมวด ๗ สวัสดิการ มาตรา ๙๒ – มาตรา ๙๙  หมวด ๙ การควบคุม มาตรา ๑๐๘ – มาตรา ๑๑๕  หมวด ๑๐ การพักงาน มาตรา ๑๑๖ – มาตรา ๑๑๗  หมวด ๑๑ ค่าชดเชย มาตรา ๑๑๘ – มาตรา ๑๒๒  หมวด ๑๓ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาตรา ๑๒๖ – มาตรา ๑๓๘ ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๑๗๘๕ / ๒๕๒๗ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารกลางในการปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐ ดำเนินกิจการควบคุมการเงินและการคลังของรัฐให้ถูกต้องเหมาะสม และมีเสถียรภาพ ธุรกิจที่ธนาคารนี้ประกอบก็กระทำไปในฐานะธนาคารกลาง มิได้เป็นการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่น หากจะมีกำไรบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ถือไม่ได้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงได้รับการยกเว้นมิต้องอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๙๓ / ๒๕๓๘ แม้จำเลย ( สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ) จะมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักร อันมิใช่เป็นการหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันก็ตาม แต่จำเลยมีรายได้ จากค่าตอบแทนในการบริการตลอดจนผลประโยชน์จากทรัพย์สิน และมีงบรายรับรายจ่าย หากรายได้สูงกว่ารายจ่ายจะตกเป็นทุนในการดำเนินงานต่อไป การดำเนินกิจการของจำเลยมีลักษณะแสวงหาประโยชน์จากกิจการเหล่านี้ โดยมิใช่เป็นกิจการให้เปล่า จึงเป็นกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (๔) มิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ๒๕๔๑ บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานในงาน ดังต่อไปนี้ ๑ ) งานเกษตรกรรม ๒ ) งานรับไปทำที่บ้าน อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

กฎหมายแรงงาน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๑

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑” มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ มาตรา ๓ ให้ยกเลิก (๑) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ (๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ( ฉบับที่ ๑ ) พ.ศ.๒๕๓๓ บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน หลักเกณฑ์โดยย่อ  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือข้อตกลงใดขัดกับกฎหมายนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐  มาตรา ๑๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ  กฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน เช่น พระราชบัญญัตินี้นำหลักเกณฑ์การบอกเลิกสัญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ มาบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ ตามมาตรา ๑๗ แทน ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๑๓๙๔/๒๕๔๗ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงระหว่างโจทก์และ ส ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่อง เอกสารหมายเลข จล.๑ หมายเลข ๖ ข้อ ๖.๑ ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา ๒ ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หาก ส ตั้งครรภ์ ให้ถือว่า ส ได้บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่า ส ตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงข้อ ๖.๑ เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะ ส มีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๔๓ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๐  มาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ระบุไว้ว่า สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิก สัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือ ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึง กำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสาม เดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ด้วย การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่ จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงาน ทันทีได้ การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา ๕๘๓ แห่งประมาลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์  มาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ระบุไว้ว่าห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์  มาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ระบุไว้ว่า นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง (๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน (๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร (๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในกรณี (๖) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิด ลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุ ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้ง เหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างใน ภายหลังไม่ได้  ความผิดลหุโทษ หมายถึง ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับ ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มาตรา ๕๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุไว้ว่า ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน  มาตรา ๕๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุไว้ว่า ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ ข้อสังเกต ๑. มาตรา ๔๓ เป็นบทบัญญัติห้ามเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น ๒. นายจ้างจะเลี่ยงไปทำสัญญากับลูกจ้างหญิงว่ามีครรภ์ให้ลาออกหรือยอมให้เลิกจ้าง ไม่มีผลบังคับ ๓. แม้ลูกจ้างหญิงรับรองว่าตนไม่มีครรภ์ นายจ้างหลงเชื่อรับเข้าทำงานแล้ว ปรากฎความจริงในภายหลัง ก็เลิกจ้างไม่ได้ ๔. แม้งานบางอย่าง หญิงมีครรภ์ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะที่จะทำ นายจ้างก็เลิกจ้างไม่ได้ นายจ้างชอบที่จะเปลี่ยนงานหรือถ้าไม่มีงานจะเปลี่ยนให้ทำก็ต้องรอให้ลูกจ้างหญิงคลอดบุตรก่อนจึงให้มาทำงาน ๕. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ ( พ.ศ.๒๕๔๑ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ข้อ ๕ ระบุไว้ว่า นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ที่ทำงานในตำแหน่งในตำแหน่งผู้บริหารงานวิชาการ งานธุรการ รวมทั้งงานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างนั้น อาจารย์ สมชาย หลักคงคา