วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๕

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ( แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ๒๕๕๑ ) มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง (๑) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง (๒) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทน นิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ ทำการแทนด้วย หลักเกณฑ์โดยย่อ ๑. นายจ้าง คือ ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้ การเป็นนายจ้างนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ๑.๑ ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงาน : การตกลงอาจทำเป็นหนังสือ พูดด้วยวาจา หรือโดยปริยายก็ได้ โดยมีการเสนอสนองถูกต้องตรงกัน ฝ่ายเสนออาจเป็นลูกจ้างยื่นใบสมัครงานแล้วนายจ้างรับเข้าทำงานหรือนายจ้างประกาศรับสมัครงานแล้วลูกจ้างมาสมัคร นายจ้างตกลงรับเป็นลูกจ้างก็ได้ นายจ้างนั้นอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ๑.๒ ผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ฎีกาสำคัญ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นนายจ้าง ฎีกาที่ ๘๕๒ / ๒๕๔๓ โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยได้โอนกิจการให้บริษัท พ เป็นผู้เช่าดำเนินการต่อ บริษัทผู้เช่าได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัทผู้เช่า โดยโจทก์ทั้งหมดหาได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัทผู้เช่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๗ ให้สิทธิไว้ไม่ อีกทั้งเมื่อบริษัทผู้เช่าค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัทผู้เช่าและยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัทผู้เช่าแล้ว บริษัทผู้เช่าจึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๒ คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่ามิใช่นายจ้าง ฎีกาที่ ๓๙๙๙ / ๒๕๒๘ สัญญาตัวแทนประกันชีวิตระหว่างบริษัทกับตัวแทนมีเจตนาผูกพันต่อกันในฐานะตัวการกับตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตัวแทนมีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายประกันชีวิตเป็นรายๆ ไป ไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ เช่น โบนัส ค่าครองชีพ หรือเบี้ยเลี้ยง เช่นลูกจ้างทั่วไป แม้ตัวแทนต้องลงเวลาทำงาน เมื่อขาดงานต้องลา หรือขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก็เป็นเรื่องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้กิจการของบริษัทมีประสิทธิภาพและรัดกุม มิใช่เป็นเรื่องที่ตัวแทนต้องทำงานตามคำสั่งหรือการบังคับบัญชาของบริษัท ทั้งไม่ปรากฎว่าตัวแทนฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว บริษัทมีอำนาจลงโทษตัวแทนเป็นการอื่น นอกจากการเลิกสัญญา ถือไม่ได้ว่าตัวแทนเป็นลูกจ้างของบริษัท ๒. ผู้ที่ถือว่าเป็นนายจ้าง ๒.๑ ) ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลธรรมดา : นายจ้างผู้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอาจติดกิจธุระ ไม่อาจควบคุมดูแลการทำงานของลูกจ้างได้ จึงมอบหมายให้คนอื่นทำแทน เช่น นายโชติช่วงซึ่งเป็นนายจ้างต้องเดินทางไปติดต่องานที่ต่างประเทศ จึงมอบหมายให้นายชิดชอบดูแลกิจการ ถือว่านายชิดชอบเป็นนายจ้าง ๒.๒ ) ผู้มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคล : หมายถึง ผู้มีอำนาจกระทำแทนโดยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐ เช่น กรรมการ ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ผู้ว่าการ กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นต้น ฎีกาสำคัญ ฎีกาที่ ๓๑๒๙ / ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕ จำเลยที่ ๒ ย่อมจะถูกโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องให้รับผิดได้ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๘๒๐ กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ ๒ กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายและเงินต่างๆ ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น เป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ รับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๘๒๐ ซึ่งไม่ขัดแย้งกัน คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว ๒.๓ ) ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้กระทำการแทน ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล อาจติดกิจธุระจึงมอบหมายให้คนอื่นดูแลกิจการแทน เช่น นายดำ กรรมการผู้จัดการของบริษัท ก จำกัด ต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศ จึงมอบหมายให้นายแดง รองกรรมการผู้จัดการรักษาการแทน ถือว่านายแดงเป็นนายจ้าง  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐ ระบุไว้ว่า นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน ทั้งนี้ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ระบุไว้ว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ ระบุไว้ว่า นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตยก็ได้เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจ ด้วย ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิก สัญญาเสียก็ได้  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๐ ระบุไว้ว่า ตัวการย่อมมีความ ผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไป ภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน อาจารย์ สมชาย หลักคงคา

ไม่มีความคิดเห็น: